ชวนตามติดร่องรอยของภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ อาจกำลังจางหาย ผ่านนิทรรศการ
“เลือนจาง ไม่รางหาย”
นิทรรศการภาพถ่ายและวิดีโอสารคดี สร้างสรรค์โดยณัฎฐ์ สาครบุตร ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิต และภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนาที่ใกล้สูญหาย สู่ภาพและบริบทเรื่องราวร่วมสมัย ที่จัดแสดงภายในสเปซของโรงแรม Raya Heritage เชียงใหม่ได้อย่างน่าสนใจ
   ภาพสองมือเหี่ยวกร้านยังคงทำงานฝีมือที่ชำนาญอย่างไม่ลดละ ดวงตาที่เต็มไปด้วยริ้วรอยยังฉายสะท้อนความทุ่มเทในวัยที่ล่วงเลยมาค่อนชีวิตแล้ว พ่ออุ้ยแม่อุ้ยยังสานต่อศาสตร์พื้นบ้านของบรรพบุรุพไว้ แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากพวกเขาอาจเป็นกลุ่มคนรุ่นสุดท้ายของผู้ที่ได้ครอบครองทักษะหรือองค์ความรู้ด้านหัตถศิลป์เหล่านี้ ทุกอย่างจะเลือนหายไปพร้อมกับบุคคลผู้เป็นเจ้าของงานมันในวันหนึ่งหรือไม่ คือคำถามตั้งต้นที่ทำให้เกิดนิทรรศการ “เลือนจาง ไม่รางหาย Tracing The Fading Legacy” ของ โรงแรม Raya Heritage อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งนี้
คุณณัฎฐ์ สาครบุตร
   ภาพถ่่าย และ Documentary ความยาว 19 นาที ผลงานสร้างสรรค์โดยคุณณัฎฐ์ สาครบุตร ช่างภาพ ผู้กำกับ และผู้สร้างภาพยนต์มือฉมังแห่ง Virus Film ที่จะพาเราทั้งดำดิ่งและคลี่คลายไปกับการติดตามวิถีชีวิต เรื่องราว ถ้อยคิดคำนึง บทสัมภาษณ์ จนถึงความรู้จากพ่อครูแม่ครูภูมิปัญญาพื้นบ้าน สล่า (ช่างฝีมือ) และกลุ่มคนรุ่นสืบสานงานหัตถศิลป์ จากหลากหลายชุมชน อาทิ ผู้ผลิตเครื่องจักสานดั้งเดิมในอำเภอสารภี งานทอผ้าโดยชาวปกาเกอะญอ ชุมชนย้อมคราม ผู้ที่ทำงานเครื่องเขิน ครอบครัวที่ฟื้นฟูงานสานสาดแหย่ง ปราชญ์ชาวบ้าน จนถึงช่างหัตถกรรมที่ต่อลมหายใจให้กับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เป็นต้น
   “สมัยก่อน เราสานตะกร้าพวกนี้ไว้หาบข้าวกลางทุ่ง ตอนนี้เขาไม่ได้หาบกันแล้ว เมื่อก่อนคนทำเยอะ กระบุงพวกนี้ แต่ตอนนี้คนรุ่นเก่าๆ ตายกันไปเยอะแล้ว ไม่มีใครทำต่อ เพราะมันขายไม่คุ้ม...ไม่คุ้มเลย” ลุงคำ บ้านป่าบง ชุมชนจักสาน บอกเล่าไว้ในหนัง Documentay ที่ฉายอยู่บนชั้นสองของนิทรรศการ และในตอนหนึ่งของวิดีโอเราได้ยินเสียงผู้กำกับตั้งคำถามลุงผล บ้านตูบแก้วมา ชุมชนย้อมครามว่า เคยกังวลมั้ยว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับงานย้อมครามจะหายไป แล้วอนาคตเราจะไปต่อยังไง คุณลุงตอบว่า “ก็แล้วแต่เด็กรุ่นใหม่ แต่ตราบใดที่ลุงยังมีชีวิตอยู่ตรงนี้ มันก็ท้าทาย และอยากจะลองอยู่เรื่อยๆ ไม่ให้มันสูญหาย”
   ในขณะที่ดูเหมือนจะเหลือแต่คนคนแก่ทั้งนั้นที่ยังทำงานหัตถศิลป์เหล่านี้อยู่ และหาคนรุ่นใหม่ทำได้ยาก บวกกับได้อ่านข้อความหนึ่งที่เล่าว่า “ผมอายุห้าสิบสาม เป็นคนสานกระบุงที่อายุน้อยที่สุดในหมู่บ้าน” เราในฐานะผู้ชมงานก็เริ่มตั้งคำถามในใจปนกังวลว่าเส้นทางของศาสตร์งานหัตถศิลป์จะคงอยู่อย่างไร แต่หากชมนิทรรศการจบอาจจะได้พบกับหนทางที่ทำให้ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อาจเลือนจาง แต่ไม่รางหาย
จากเรื่องราวสะเทือนใจคนในชุมชน ที่จุดประกายให้เกิดนิทรรศการ
   นอกเหนือจากงานจักสาน งานย้อมคราม และงานทอผ้าฝีมือท้องถิ่น ที่โรงแรม Raya Heritage เล็งเห็นคุณค่าและนำมาเป็นส่วนหนึ่งในของใช้และของตกแต่งภายในโรงแรมแล้ว เรายังได้เห็นโอ่งยักษ์ ที่มีเบื้องหลังเรื่องราวสะเทือนอารมณ์และกลายเป็นจุดตั้งต้นแรงบันดาลใจให้เกิดนิทรรศการด้วย “วันหนึ่ง คุณลุงสองเมือง ปัญญานันทะ สล่าช่างปั้นดินเผาแห่งบ้านยางเนิ้ง อำเภอสารภี ผู้ปั้นดินด้วยมือและใช้เทคนิคเผาด้วยเตาฟืนโบราณ ซึ่งเหลืออยู่ไม่กี่คนนั้น ได้เสียชีวิตลงก่อนที่โอ่งจะเสร็จสมบูรณ์ ทำให้เกิดการรวมตัวของคนในหมู่บ้านมาช่วยทำโอ่งให้สำเร็จ โอ่งดินนี้ จึงเป็นเครื่องย้ำเตือนให้เราตระหนักว่าภูมิปัญญาดั้งเดิมของงานหัตถศิลป์กำลังจะเลือนหายไปพร้อมกับเจ้าของผลงาน” คุณณัฎฐ์ บอกเล่าถึงที่มาของนิทรรศการ
   “เมื่อเราได้รับโจทย์จากทางโรมแรม เราจึงสนใจที่จะถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายและ Creative Documentary ในแบบของเรา ซึ่งมีส่วนผสมของมุมมองการถ่ายทอดภาพที่สร้างสรรค์อย่างงานโฆษณา บวกกับการสะท้อนภาพวิถีชีวิตที่เป็นจริงอย่างเป็นธรรมชาติ แฝงแนวคิดของเรื่อง Knowledge และ Know- How ไว้ด้วย”
เริ่มต้นจากดำดิ่งก่อนนำไปสู่หนทางคลี่คลายขอบเนื้อหาภายในนิทรรศการ
   “เราเริ่มต้นจากนำเสนอภาพถ่าย ที่บอกเล่าเรื่องราวของสล่ารุ่นพ่ออุ้ยแม่อุ้ยที่กำลังวังชาในการทำงานฝีมือเริ่มถอดถอยลงตามวัย และองค์ความรู้อาจสูญหายไปพร้อมกับเขาเหล่านั้นได้ทุกเมื่อ เป็นส่วนที่จะทำให้ผู้ชมรู้สึก Deep และจมลงไปนิดนึง เพราะหากไม่บันทึกไว้ หรือไม่มีผู้สืบทอด ก็อาจจะสูญหายไปจริงๆ ส่วนที่สองของนิทรรศการบริเวณชั้น 2 จะเริ่มปลุกความหวังของเราขึ้นมา ให้เห็นว่าบางชุมชนยังมีผู้สืบทอดรุ่นใหม่ๆ ก่อนที่ส่วนสุดท้ายจะบอกเล่าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หยิบจับนำงานหัตถศิลป์ไปประยุกต์ใช้ สร้างสรรค์หรือต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ โดยใช้องค์ความรู้ด้านการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ หรือประสบการณ์มาพัฒนา ดังนั้นเมื่อยังถูกใช้ งานหัตถกรรมก็ยังถูกสร้าง” ติตตามวิถีชีวิตของผู้เป็นเจ้าของและผู้สืบทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านหลายแขนง จากหลากชุมชน
   “ด้วยบุคคลที่เรานำมาถ่ายทอดผ่านภาพถ่ายและหนัง Documentary อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป จนถึงเกือบ 90 ปีก็มี ดังนั้นจึงมีหลายมิติ และหลายแง่มุมให้บอกเล่า โดยก่อนการถ่ายทำเราต้องใช้เวลาพูดคุยเพื่อให้เกิดความใกล้ชิด ความสบายใจ เพื่อให้ได้เห็นมุมของแต่ละคนที่เป็นธรรมชาติ ก่อนจะดึงจุดเด่นด้านความคิด และสิ่งที่ทำในแต่ละชุมชน นำมาร้อยเรียงเข้าด้วยกันจนเป็น Documentary ที่มีความยาว 19 นาที จากที่คุยกันตอนแรกแค่ 5 นาที”
   ภายในนิทรรศการจึงประกอบไปทั้งภาพถ่ายและภาพยนตร์ Documentary ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตพื้นบ้านมากมายมาบอกเล่า อาทิ อาจารย์นิคม แห่งเฮือนใจ๋หุม หรือพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านล้านนาของชุมชน ผู้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ที่มีองค์ความรู้หลายด้าน และยังเป็นนักสะสมของใช้พื้นถิ่นมากมาย ที่มาหยิบจับเครื่องมือประมงพื้นบ้าน อย่าง ข้อง ไซ แซะ มาบอกเล่า ก่อนพาไปพบกับชุมชนจักสานที่ช่างฝีมือรุ่นพ่ออุ้ยแม่อุ้ยยังทำอุปกรณ์จับปลาพื้นบ้านแบบดั้งเดิมอยู่ ซึ่งในชุมชนเหลือคนทำงานจักสานดั้งเดิมอยู่เพียงไม่กี่คนแล้ว ในขณะที่แม่สมศรี ชาวปะกาเกอะยอ ก็พยายามแสวงหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนางานสิ่งทอของชุมชนให้สามารถดำรงอยู่และสร้างรายได้ รวมทั้งยังมีคนอย่างคุณเนาว์ แห่งสีวลี ที่เล็งเห็นคุณค่าของโบราณนำมาต่ออดสู่งานออกแบบด้วยความคิดว่า “เราจะคิดออกแบบยังไงให้มันเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป”
สิ่งที่ได้นอกเหนือจากภาพถ่าย และภาพวิดีโอ
   “เราได้เห็นคนที่ใส่ใจในสิ่งที่เขาทำ และพยายามจะถ่ายทอดมันออกมาผ่านความอดทนในการทำ ในขณะที่งานมันรายละเอียดเยอะมาก ทั้งในส่วนของตัวชิ้นงาน กรรมวิธี และวิธีการคิดทุกอย่าง มันต้องใช้ทักษะ เวลา และการฝึกฝน นี่เป็นสิ่งที่เราเห็นได้ชัดที่สุด ภูมิปัญญาองค์ความรู้บางอย่างมันจึงพร้อมสูญหายไป เพราะนอกจากคนจะสนใจกันน้อยลงแล้ว ยังต้องมีดูอีกว่าคนที่สนใจนั้น มีความอดทนพยายามพอมั้ย”
   “เราได้เข้าใจว่านดีไซน์คืออะไร ซึ่งงานดีไซน์ในยุคของพ่ออุ้ยแม่อุ้ย ก็คือการคิดเพื่อการดำรงชีวิต และเป็นวิถีชีวิต ซึ่งนิทรรศการนี้ตอบเราได้ชัดเจน ดังนั้นในนิทรรศการนี้ผู้ชมจะไม่ใช่แค่ได้อ่านข้อความ ชมภาพถ่าย หรือดู Documentary เพราะทางโรงแรมยังได้เชิญช่างฝีมือที่ในภาพ และในหนังให้มาทำงานฝีมือที่เขาทำอยู่ในวิถีชีวิตจริงๆ ของเขาให้เราได้เห็น ว่าสิ่งที่เขาทำเป็นอย่างไร ได้เห็นแววตา ความตั้งใจ ทักษะฝีมือ และผลลัพธ์ของงานหัตถศิลป์สวยงามที่ได้ ทำให้เราได้เห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างสเปซของโรงแรม เนื้อหาของนิทรรศการ และวิถีชีวิตของผู้คน”
   “สุดท้ายแล้วมันไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราต้องมากังวลแล้วว่างานหัตถศิลป์จะสูญหายไปมั้ย เพราะเราทำสำเร็จแล้วที่ได้ส่งกำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจให้เจ้าของมรดกและผู้สืบทอด คิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้ภูมิปัญญาคงอยู่และพัฒนาต่อไปได้
   นิทรรศการเปิดให้ชมฟรีตั้งแต่ 10.00 - 19.00 น. ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 โดยทุกเสาร์- อาทิตย์ ยังมีกิจกรรมหมุนเวียน ที่เชิญช่างฝีมือมาสาธิตวิธีการทำงานให้ชมกันอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ช่วงเวลา 14.00- 17.00 น. ผู้สนใจเดินทางมาชมนิทรรศการ ทางโรงแรมยังมีบริการ Shuttle Bus 5 เที่ยวต่อวัน รับ-ส่งจากโรงแรม Tamarind Village มายังสถานที่จัดนิทรรศการที่ Raya Heritage ด้วย