ในสูจิบัตรรวบรวมผลงานของ Marcel Broodthaers ที่จัดทำโดย Nico Dockx และ Helena Sidiropoulos ในปี 2009 ปรากฎภาพเป็นสีดำเกือบทั้งหมด อันเนื่องมาจากทายาทผู้ถือกรรมสิทธิ์ผลงานของ Broodthaers ไม่ยินยอมให้พิพิธภัณฑ์ศิลปะนำภาพไปใช้หากไม่มีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ Nico Dockx และ Helena Sidiropoulos จึงหาทางออกด้วยการเซนเซอร์ภาพผลงานที่ไม่ได้รับอนุญาตทั้งหมดให้เป็นสีดำ นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างผลงานศิลปะของ Nico Dockx ที่มักจะปรับตัวไปตามบริบทและเงื่อนไขที่ต้องเผชิญในแต่ละครั้ง โดยส่วนตัว Nico Dockx เป็นศิลปินอีกคนที่ทำงานด้านออกแบบสิ่งพิมพ์และกราฟิกมาอย่างต่อเนื่อง และ Nico เองก็ได้สร้าง Archive ส่วนตัวขึ้นมา ผ่านภาพถ่าย หนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสาร การบันทึกเสียง ที่เขาเก็บสะสมเองมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผลงานศิลปะหลายชิ้นของเขาจึงมักจะถูกผลิตออกมาในรูปแบบสิ่งพิมพ์และหนังสืออยู่เสมอ อย่างเช่นผลงาน Revolutionary Letters ในปี 2015-2016 ที่ Nico Dockx ได้เชิญชวน เพื่อนศิลปิน สถาปนิก ภัณฑารักษ์ จากหลายประเทศ รวม 78 คน ให้ส่งผลงานศิลปะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิวัติ เพื่อตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของเบลเยี่ยมทุกวันต่อเนื่องนานร่วมสองเดือน
ในอีกด้านผลงานศิลปะของ Nico เองนั้นมักมีกระบวนการทำงานที่ดำเนินไปอย่างเนิบช้า อันเนื่องมาจากข้อจำกัดทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่บีบรัดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่ก่อสร้างโดยอาศัยแรงงานของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งทำให้บ้านของเขาที่ Antwerp ใช้ระยะเวลาก่อสร้างยาวนานร่วม 10 ปี (ระหว่างช่วงปี 2003-2014) แถมเขายังต้องถูกทางหน่วยงานของเทศบาลเข้ามาตรวจสอบดูงานก่อสร้างว่าเป็นไปตามเทศบัญญัติและตรงตามแบบที่ยื่นขออนุญาตหรือไม่และมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่บ้างพอสมควร ซึ่งกระบวนการก่อสร้างบ้านหลังนี้ Nico ได้ทำให้เราเห็นว่ารัฐเข้ามามีบทบาทสอดส่องควบคุมชีวิตประจำวันผ่านปัจจัยพื้นฐานอย่าง การสร้างบ้าน ได้อย่างไรบ้าง ผลงานอีกชิ้นที่ใช้ระยะเวลาดำเนินการยาวนานร่วม 10 ปี ก็คือ การก่อสร้างสะพานคอนกรีตที่มูลนิธิที่นา ตำบลน้ำบ่อหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีความยุ่งยากตั้งแต่ขั้นตอนการระดมทุน ไปจนถึงยื่นแบบก่อสร้างและประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่น แต่ในที่สุดสะพานก็ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2017 ซึ่งทำให้ชาวบ้านในละแวกนั้นสามารถใช้สะพานใหม่นี้เป็นทางสัญจรในการข้ามไปมา ระหว่างแปลงนา ซึ่งยังได้กระตุ้นให้ชาวบ้านพัฒนาแปลงนาที่อยู่ใกล้กับตัวสะพานเป็นสวนและบ่อเลี้ยงปลาเพราะมีเส้นทางสัญจรที่สะดวกขึ้น นอกเหนือไปจากนั้น Nico ยังได้หล่อแผ่นเหล็กวงกลมขึ้นมาเพื่อมอบให้กับผู้บริจาคเงินในโครงการนี้ รวมถึงการนำเอาแผ่นเหล็กบางส่วนไปติดตั้งบนตัวสะพานอีกด้วย โดยภาพนูนต่ำที่ปรากฎบนแผ่นเหล็กก็นำเอามาจากแบบร่างเขียนมือโดยเด็กๆ ในละแวกนั้น
ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา Nico มีโอกาสเดินทางมายังประเทศไทยหลายต่อหลายครั้ง และนั่นทำให้เขามีโอกาสผลิตผลงานศิลปะและทำงานร่วมกับศิลปินไทยหลายต่อหลายคน อย่างเช่นในปี 2011 ที่เขาร่วมแสดงงานกับฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ที่ Gallery VER, กรุงเทพฯ ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า erasing 22’09’’ (Unfinished) ซึ่ง Nico ได้ทำการลบภาพวาดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงในกรุงเทพฯ ที่ส่งมาโดยฤกษ์ฤทธิ์ และบันทึกเสียงที่เกิดขึ้นระหว่างการลบภาพวาดเอาไว้ หรือจะเป็นโครงการแผ่นเสียง GHOSTTRANMISSIONS pt.2 ที่ Nico ได้ขึ้นไปบันทึกเสียงบนตึกร้างในกรุงเทพฯ ที่ก่อสร้างขึ้นมาในช่วงภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ในยุค 90 ซึ่งเป็นการร่วมงานกับ Building Transmissions ตั้งแต่ปี 2004 ซึ่งยังทำงานร่วมกันต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และในปี 2014 Nico ยังได้เชิญชวนเพื่อนศิลปินให้ส่งเทปบันทึกเสียง และภาพถ่ายมาร่วมในโครงการนี้อีกด้วย หนึ่งในศิลปินที่เข้าร่วมก็คือ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
ในขณะที่งานศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบัน รวมไปถึงตัวศิลปินที่กำลังมุ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการพัฒนาของเทคโนโลยี รวมไปถึงสื่อดิจิตอลจำนวนมหาศาลที่ถูกส่งเข้าไปในระบบอินเทอร์เน็ตที่นับวันจะมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์ทั้งในฐานะผู้เสพและผู้ผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ ผลงาน และวิถีชีวิตของ Nico Dockx ที่คงระดับความเร็วในการทำงานของตัวเองไว้ รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีในแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้องฟิลม์ หรือการทำมือ ซึ่งในบางครั้งอาจดูอืดอาดและเชื่องช้าในสายตาคนทั่วไปอยู่ไม่น้อย แต่ในอีกด้านผลงานศิลปะของ Nico ก็เปิดมุมมองรวมไปถึงตั้งคำถามกับ Speed และ Visual Culture ในยุคปัจจุบันอยู่ไม่น้อย ว่าเราติดกับ และจมอยู่กับโลกเสมือนของภาพ และเสียงมากกว่าประสบการณ์จริงหรือเปล่า