NA-OH BANGKOK
อารยธรรมแห่งศิลปะ UPCYCLING
  ไม่ใช่ใครก็ได้ ที่จะสามารถชุบชีวิตอากาศยาน ล็อคฮีด แอล - 1011 ไทรสตาร์ (Lockheed L – 1011 Tristar) หรือเครื่องบินที่ขับเคลื่อนด้วยขุมพลังมหาศาล จุผู้โดยสารได้ถึง 450 ที่นั่ง และ ถูกปิดตำนานการบินมาแล้วกว่า 50 ปี

  แต่ช่างชุ่ยทำได้ Creative Park ภายใต้ปรัชญาที่ว่า “Nothing is useless” ช่างชุ่ยได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 100 สถานที่ที่ดีที่สุดของโลก ภายใต้เกณฑ์ของคุณภาพ ความสร้างสรรค์ ความดั้งเดิม รวมทั้งความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมของสถานที่ ซึ่งจัดอันดับโดยสื่อระดับโลกอย่างนิตยสารไทม์
  เทรนด์ Upcycling ไม่ได้มีให้้เห็นเพียงในวงการแฟชั่น ที่เริ่มหยิบจับขยะในธุรกิจมาแปรรูปให้ เป็นของใช้ที่มีมูลค่าอีกครั้ง แต่ช่างชุ่ยสามารถทำให้ศิลปะ Upcycling ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกเท่าตัว เพราะไม่ใช่ขยะชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่เป็นการนำซากวัฒนธรรมขนาดใหญ่มาฟื้นคุณค่าให้เกิดเป็น Community ที่สร้างสีสันได้ในระดับสากล
คุณสมชัย ส่งวัฒนา
ผู้ก่อตั้งโครงการช่างชุ่ย
  “เครื่องบินลำนี้เป็นแลนด์มาร์กของช่างชุ่ย เราต้องการรีบอร์นให้เค้ามีชีวิตใหม่ ภายใต้บริบทใหม่ ซึ่งก็ขบคิดกันว่าถ้าเค้ากลับมาใหม่เค้าควรจะเป็นอะไรดี ก็เลยนึกถึงนาโอห์ มันคือเครื่องบินที่ปลดระวางแล้ว ที่เรานำกลับมาสร้างเรื่องราวให้กับสังคมใหม่ ที่สุดแล้วมันก็คือ Restaurant แล้วก็เป็น Experience ที่หลายคนที่มาจะได้ค้นพบบางสิ่งอย่างที่เป็นประสบการณ์ใหม่ เมื่อเราเซ็ตอัพทุกอย่างเรียบร้อยองค์ประกอบของไลท์ติ้ง องค์ประกอบของแสงสีเสียง มันก็จะเป็นจินตนาการ ซึ่งเราอยากจะทำให้หลายคนที่ขึ้นมาโลดแล่นไปกับนาโอห์ของเรา”
NA-OH BANGKOK

  รูปธรรมของมูลค่าเครื่องบินถูกประกอบสร้างให้เป็น Conceptual Restaurant ที่ใช้ชื่อว่า “นาโอห์” ทั้งร้านถูกตกแต่งตัวร้านให้กลมกล่อมอยู่ในธีมของ Apocalypse /วันสิ้นโลก ที่กำเนิดเป็น “เรือโนอาห์” ในตำนาน ซึ่งเล่าลือกันว่าเป็นศูนย์รวมของเหล่าสัตว์ต้นสายพันธ์ุเพื่อการกำเนิดโลกใหม่ ชีวิตใหม่ และนอกจากนั้น เหล่าผู้คนที่ได้มาเยือนเรือบินลำนี้ ยังได้ประสบการณ์ด้านอาหาร Fine dining กลับไปอีกด้วย
คุณนที เล้ารุ่งเรืองเดช
Director of NA-OH
  ผมให้ความสำคัญ 2 ประเด็น อย่างแรกคือ Hardware นั่นคือ เครื่องบิน แค่เฉพาะเครื่องบินลำนี้ก็พิเศษสุดๆแล้วนะ ไหนจะ Decorate ด้วยสัตว์นานาพันธุ์ และของตกแต่งที่มันหาไม่ได้ จริงๆ มันควรจะเป็น Museum ด้วยซ้ำ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นสิ่งสำคัญเสริมกัน คือ Software ซอฟแวร์ในที่นี้หมายถึงทีมงานที่ร่วมทำงาน บุคลากร หรือรวมไปถึงแนวความคิด แอตติจูตที่จะถูกใส่เข้าไปและถูกขับเคลื่อนไปหาอีกหลายๆคนที่กำลังจะเข้ามานาโอห์ มันสำคัญมาก ถ้ามีฮาร์ดแวร์ดีและมีซอฟต์แวร์ที่ดีด้วย ผมว่ามันจะเป็นอะไรที่มันลงตัวมากๆ ครับ
   สำหรับนาโอห์ รายละเอียดเล็กน้อยถูกกลั่นกรองความคิดมาอย่างดี แม้แต่การสร้างประสบการณ์ Fine – Dining ที่ได้เฟ้นหาเชฟรุ่นใหม่ไฟแรงจากเมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย มาเล่าเรื่องราวศิลปะบนผิวจาน โดยทุกทุก 3 เดือน เมนูจะถูกเปลี่ยนไปตามบทและตอน ซึ่งสำหรับช่วงเดือนแรกที่เป็นปฐมบทนี้ ทุกจานจะถูกครอบคลุมอยู่ในเรื่องการพลัดถิ่น หรือ Diaspora ที่เป็นการพาทุกคนอพยพจากรสชาติอาหารเดิมๆ ไปสู่รสชาติแห่งโลกใหม่

  “อาหารหลายจาน มันเล่าเรื่องราวถึงอารยธรรมเลยนะ ไม่ว่าจะเป็นการชงชาของจีน หรือการถักทอผ้าไหม ผมซ่อนกิมมิคของคำว่าพิธีกรรมหรือสิ่งที่ถูกทำกันมาจากรุ่นเก่าๆ ของแต่ละชนชั้น แต่ละเชื้อชาติ มาผนวกกันเป็นจานนึง มันจึงตอบไม่ได้ว่าเมนูนี้มันคืออะไรกันแน่ ในหนึ่งเมนูผมเจาะลึกไปถึง Ingredient เลยนะ อย่างซอสหนึ่งอันเนี่ย Ingredient อันแรกคืออะไร? พริกไทยใช่มั้ย? พริกไทยต้องพริกไทยจากพม่าใช่มั้ย? แล้วส่วนอื่นๆ ล่ะ อะไรที่แทนความหวานที่ไม่ใช่น้ำตาลบ้าง? มันต้องใช้อะไรอีกสำหรับส่วนผสมนี้? นี่แหละคือความแตกต่างของมันครับ”
คุณโมน ธีระธาดา
Executive Chef
  “คอนเซ็ปต์ของอาหารของนาโอห์ในซีซั่นแรกจะเล่าเรื่องความรู้สึกของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ คนที่ต้องอยู่รอด ซึ่งบางคนจะรู้สึกดีใจ บางคนมีความเศร้าที่เจือหมอง บางคนเศร้าเพราะเสียคนรักไป อาหารของนาโอห์เล่าผ่านอารมณ์นะครับ เมื่อใดที่ทุกท่านทานจบคอร์สนั้น ภาพที่ออกมาจะถูกปะติดปะต่อเป็นเรื่องเล่า มันเหมือนเป็นละครเวที เป็นผลงานโชว์สดอย่างนึง ซึ่งมันมากกว่าการรับประทานอาหาร ผมว่าการใส่เรื่องเล่าของมันลงไป ใส่อารมณ์ใส่ความรู้สึก มันคือปรากฎการณ์ใหม่ของการทำร้านอาหารที่จะเน้นอารมณ์ของจานที่สื่อออกมามากกว่าตัวอาหาร สิ่งที่อยากให้ลูกค้าได้กลับไปคือ ประสบการณ์ใหม่ เค้าจะได้เปิดโลกในการรับชมอาหารในรูปแบบของการแสดงสดครับ”
REMAIN
SWEET MELANCHOLY “NOT JUST POTATO”
AMAH
FAKE FERTILE
   และไฮไลท์ที่ทุกคนรอคอยคือหน้าตาของเมนูต่างๆ ที่ถูกแต่งแต้มด้วยรสชาติอันแปลกใหม่ ที่บ่งบอกว่า แม้แต่อาหารที่เรารับประทานยังสามารถอยู่ในรูปธรรมของศิลปะได้เช่นกัน ทั้ง AMAH, FAKE FERTILE, REMAIN, SWEET MELANCHOLY “NOT JUST POTATO” โดยทุกจานจะมีเรื่องราวซ่อนอยู่ในทุกๆ คำ เพื่อเป็นการสร้างอารยธรรมด้านอาหารและสร้างประสบการณ์แห่งศิลปะบนผิวจานไปพร้อมๆ กัน
  “ผมคิดว่าเรื่องราวตรงนี้มันเป็นความรู้สึก เราไม่ได้ทำงานเป็นธุรกิจเพื่อใฝ่หาแต่ผลประโยชน์ แต่สิ่งสำคัญคือเราอยากทุกคนได้เสพย์ความมุมานะ วิริยะ อุตสาหะ และความเพียรพยายามของทีมงานทุกคน เราอยากบอกว่า เราอยากเห็นการที่ทุกคนขึ้นมาแล้วเกิดแรงบันดาลใจที่ดีกับชีวิต หลายคนคุ้นเคย สัมผัส และอาจจะเดามันถูก แต่นาโอห์คือเรื่องที่เดาไม่ถูก นาโอห์เต็มไปด้วยแนวความคิด นาโอห์สอดแทรกประสบการณ์ ซึ่งแต่ละคนก็มีประสบการณ์แตกต่างกัน และนี่คือความสวยงามของเครื่องบินลำนี้ครับ”