“อนุทิน วงศ์สรรคกร”
นักออกแบบและผู้ก่อตั้ง คัดสรร ดีมาก 

จากงานอดิเรกสู่บททดสอบ “ข้อความนั้น (Luv.txt)”

   จากนักออกแบบที่เคยสร้าง “สำเนียง” ของการสื่อสารไว้มากมายผ่านการออกแบบตัวอักษรมาโดยตลอด ในวันนี้ “อนุทิน วงศ์สรรคกร” หัวเรือใหญ่แห่ง คัดสรร ดีมาก ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายให้ตัวเอง กับการกำหนดบททดสอบให้กับงานอดิเรก โดยเปลี่ยนมาใช้ “เสียงเพลง” เป็นสื่อกลางในการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่ง และล่าสุดได้ส่งมิวสิควิดีโอของบทเพลงลำกับที่ 2 มาให้ชมและฟังกันแล้วกับ “ข้อความนั้น (Luv.txt)”
จากนักออกแบบ สู่นักร้องสมัครเล่น
   “คือทุกอย่างมันเริ่มจากงานอดิเรกก่อน ผมเรียนร้องเพลงได้ร่วม 2 ปีแล้ว แต่ผมเป็นคนที่มีการวางเป้าหมาย สมมติว่าถ้าอยากจะทำอะไร จะพยายามมองปลายทางให้ชัด แล้วออกไปลองทำดู ลองแก้ปัญหาในระหว่างทางไปเรื่อยๆ ทีนี้พอสนใจเรื่องร้องเพลง จากร้องเพลงไม่ได้เลย ก็รู้ตัวว่าต้องไปเรียนร้องเพลง หลังจากนั้นบรรดาครูสอนร้องเพลงก็แนะนำว่าเรียนร้องเพลงแล้ว จะเรียนไปเรื่อยๆ ก็กระไร น่าจะตั้งเป้าหมายไว้หน่อยมั้ย ก็เลยคิดว่าน่าจะลองทำเพลงเป็นเรื่องเป็นราว เพราะเวลาเราใส่สถานการณ์เข้าไป มันก็จะมีความท้าทายใหม่ในการทำงาน เราก็จะได้รู้ว่าต้องทำอะไรบ้างเป็นขั้นตอน และต้องทำอย่างไรเพื่อให้เราสามารถไปถึงจุดนั้น คือมันถูกจริตกับวิธีการทำงานของผมโดยส่วนตัวด้วย”
   “คนชอบคิดว่านักออกแบบก็ออกแบบอย่างเดียว ผมจะโดนคำถามบ่อยมากเวลาสัมภาษณ์ว่า สนใจแต่เรื่องฟอนต์ตลอดเวลามั้ย หรือต้องซื้อหนังสือเกี่ยวกับฟอนต์ไว้เยอะๆ มั้ย มันไม่ใช่ คือนักออกแบบก็มีมิติด้านอื่นเหมือนกัน เพียงแค่ว่าเราหันด้านนั้นมาให้คนอื่นเห็นรึเปล่า”
ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นนักร้องอาชีพ
แค่ร้องเพลงแล้วสนุก
แล้วอยากมีเป้าหมายที่มากกว่าเรียนไปเรื่อยๆ
ก็หาวิธีที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นให้ได้
จากที่เคยทำงานสื่อสารกับผู้คนผ่านตัวอักษร ผ่านภาพกราฟิก มาจนถึงผลิตเนื้อหา หรือแม้แต่การบรรยาย ในวันนี้มาสู่การสื่อสารผ่านบทเพลง
   “ผมรู้สึกว่าเพลงเป็นภาษาสากลที่คนเข้าใจร่วมกัน เมื่อสื่อสารผ่านเพลงก็น่าจะเข้าใจได้ง่าย แล้วเนื้อหาของเพลงนี้ก็พยายามที่จะบอกว่า เราสื่อสารกันได้ผ่านข้อความที่เป็นตัวหนังสือ แต่ในข้อความนั้นก็มีเสียงเฉพาะที่เกิดขึ้นระหว่างการสนทนาด้วย ไม่ว่าจะในรูปแบบของตัวหนังสือเอง หรือรูปแบบของคำพูดที่บุคคลหนึ่งใช้กับอีกบุคคลหนึ่ง ก็จะเป็นเสียงที่ได้ยินกันสองคน”
   “ไม่ใช่แค่ตัวหนังสือ แต่มันคือความรักที่เธอส่งมาให้ฉัน” หนึ่งในเนื้อร้องของเพลง “ข้อความนั้น (Luv.txt)” จึงเป็นความตั้งใจของผู้แต่งเพลง ที่ต้องการเขียนเนื้อเพลงให้เชื่อมโยงกับความเป็น คัดสรร ดีมาก ด้วย ในฐานะที่เป็นตัวกลางในการสื่อสารผ่านการออกแบบตัวอักษรมาโดยตลอดด้วย
ประสบการณ์การทำงาน กับการลุกขึ้นมาทำเพลง
   “พอมาทำเพลง มันก็เป็นอีกมิติหนึ่งเลย สิ่งที่เราจะต้องรู้ สิ่งที่เราจะต้องทำ สิ่งที่เราจะต้องเตรียม ที่เราจะไปร้องเพลงเพลงนั้นได้ พอเราได้เพลงที่เป็นของเรามาแล้ว เราก็ต้องออกแบบว่าจะร้องอย่างไรให้มันดี ผมว่าแต่ละเพลงก็มี ความท้าทายไม่เหมือนกัน”
   ในการทำงานเพลงนี้ เขายังได้ทำงานกับนักแต่งเพลงฝีมือดีอย่าง แอ้ม อัจฉริยา ดุลยไพบูลย์ และแต๊บ ธนพล มหธร แห่ง Freshment ในฐานะโปรดิวเซอร์ ที่จับทุกอย่างลงกล่องในเรื่องของซาวน์ดนตรีที่กลมกล่อม และให้ทาง Hello Filmmaker เป็นผู้สร้างสรรค์มิวสิควิดีโอที่ขยายเนื้อหาและตีความของเนื้อเพลงให้เข้าถึงคนกลุ่มกว้างมากขึ้น โดยเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นของเหล่าหนุ่มสาวในมิวสิควิดีโอนั้น เป็นภาพเชิงเปรียบเทียบของสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านห้องสนทนา (Chat Room) ที่แต่ละคนได้สื่อสารกันผ่านตัวอักษรที่สื่อสารกันในโลกโซเชียล

ความท้าทายลำดับต่อไป
   “ถ้ามองจากมุมคนอื่น ผมก็เหมือนคนที่กระโดดจากพื้นที่หนึ่งที่คุ้นเคย มาสู่อีกพื้นที่หนึ่งที่ไม่รู้จัก เอาตัวเองไปอยู่ในที่ที่ไม่คุ้นเคยบ้าง เพื่อให้เกิดสถานการณ์ที่เกิดการเรียนรู้ ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นนักร้องอาชีพ แค่ร้องเพลงแล้วสนุก แล้วอยากมีเป้าหมายที่มากกว่าเรียนไปเรื่อยๆ ก็หาวิธีที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นให้ได้ ผมว่าเรื่องมันมีเท่านี้เลย แต่ถ้ารู้สึกว่าถึงแล้ว เราค่อยคิดถึงเป้าหมายถัดไป”
เรื่องของการผสมผสาน ดนตรี กับ การออกแบบเพื่อการสื่อสาร (Communication Design)
  “เรื่องของ Communication Design มันมีได้ หลายแบบ พอบอกออกแบบ คนจะนึกถึงการสื่อสารด้วยภาพซะส่วนใหญ่ แต่เอาจริงๆ แล้ว ทุกวันนี้ Visual Communication Design มันมีเรื่องของภาพเคลื่อนไหว และเสียงหรือเพลงก็เป็นส่วนประกอบที่ทำให้ภาพน่าสนใจ ผมมองว่าด้วยบริษัทออกแบบจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับแขนงอื่นๆ อย่างช่วยไม่ได้ ดังนั้นอย่างน้อยเรื่องเพลงก็ต้องทำแล้วล่ะ สมมติเราทำคลิปขึ้นมาคลิปหนึ่ง เพลงประกอบหรือดนตรีประกอบก็ต้องมี ตอนนี้ คัดสรร ดีมาก ก็กำลังสำรวจเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน จะบอกว่าเราไม่ได้คิดเลยก็คงไม่ได้ ใครที่เคยสัมผัสเรา ไม่ว่าในงานสัมมนาหรือเวิร์คช็อปที่เราจัด ถ้าสังเกตดีๆ เรามีเพลงประกอบเพื่อสร้างบรรยากาศของเราทุกครั้ง เราคิดและออกแบบเรื่องนี้มานานแล้ว”

  “ตอนนี้จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายว่า เราจะ ทำอย่างไรที่จะสื่อสารให้เข้าถึงคนได้มากขึ้นนั่นเอง”