Shingo Masuda+Katsuhisa Otsubo
ชื่อของ ชิงโกะ มาสึดะ และ คัตสึฮิสะ โอตสึโบะ นั้น เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างจริงจัง ไม่นานมานี้ เมื่องานของสำนักงานสถาปนิกเล็กๆ Shingo Musuda + Katsuhisa Otsubo ได้รับรางวัล AR Award เมื่อปี 2014 โดยที่ก่อนหน้านี้สถาปนิกทั้งคู่ ได้เริ่มทำงานด้วยกันมาตั้งแต่ปี 2007 หลังจบการศึกษาจาก Musashino Art University ซึ่งการเริ่มก่อตั้งออฟฟิศทันทีหลังจากที่จบการศึกษา ก็เป็นเส้นทางการเริ่มต้นที่ค่อนข้างแปลกสำหรับสถาปนิกญี่ปุ่น ที่มักจะทำงานเริ่มการทำงานกับสถาปนิกชั้นครูก่อน ทำให้เกิดเป็นเส้นทางการสืบทอดหรือตระกูลของระบบความคิดจากรุ่นสู่รุ่น ที่ค่อนข้างชัดเจน แต่สำหรับมาสึดะและโอตสึโบะ เรากลับไม่สามารถสืบค้นที่มา หรือย้อนรอยเส้นทางการเติบโตได้อย่างชัดเจน ผนวกกับความหลากหลายของการปรากฏรูปของงานสถาปัตยกรรม หรือการไม่มีรูปแบบการทำงานที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ทำให้อัตลักษณ์ของ มาสึดะและโอตสึโบะนั้น ดูจะเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆตามแต่โจทย์ หรือสถานการณ์ของแต่ละงานจะพาไป
งานแรกของ มาสึดะและโอตสึโบะที่ได้รับการตีพิมพ์นั้น เป็นงานขนาดเล็กมาก ซึ่งเป็นเพียงแค่รั้วบ้าน แต่ในขณะที่มันเล็กและดูจะมีเนื้อหาไม่มากนัก มันกลับเป็นจุดเริ่มต้นให้ทั้งสอง ตั้งคำถามกับการให้คำจำกัดความของขอบเขตทางสถาปัตยกรรม และการให้ค่าความสัมพันธ์ของพื้นที่ในรูปแบบใหม่ จากการอ่านหรือการให้คุณค่าที่แตกต่างออกไป กับขอบเขตของพื้นที่เหล่านั้น
คำถามเกี่ยวกับขอบเขตทางสถาปัตยกรรมและการทำงานของพื้นที่อาคารในรูปแบบใหม่ จากการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์และหน้าที่ของขอบเขตนี้ มาสึดะและโอตสึโบะ ได้หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในงานปรับปรุงบ้านหลังหนึ่ง ที่เรารู้จักกันในชื่อโปรเจกต์ Boundary Window ซึ่งชื่อของงานเอง ก็บ่งบอกถึงการตั้งคำถาม กับการทำงานของ Boundary ที่การสร้างขอบเขตรูปแบบใหม่ให้กับบ้าน ภายใต้เส้นรอบรูปเดิมนั้น ได้ทำให้การใช้งานในทุกพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งงานนี้เป็นงานแรกของสถาปนิกทั้งสอง ที่ได้รับการตีพิมพ์แพร่หลายมากมาย จนเป็นที่รู้จัก และก็ทำให้ มาสึดะและโอตสึโบะ ได้รับรางวัล AR Award นั่นเอง
คำถามเกี่ยวกับขอบเขตทางสถาปัตยกรรมและการทำงานของพื้นที่อาคารในรูปแบบใหม่ จากการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์และหน้าที่ของขอบเขตนี้ มาสึดะและโอตสึโบะ ได้หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในงานปรับปรุงบ้านหลังหนึ่ง ที่เรารู้จักกันในชื่อโปรเจกต์ Boundary Window ซึ่งชื่อของงานเอง ก็บ่งบอกถึงการตั้งคำถาม กับการทำงานของ Boundary ที่การสร้างขอบเขตรูปแบบใหม่ให้กับบ้าน ภายใต้เส้นรอบรูปเดิมนั้น ได้ทำให้การใช้งานในทุกพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งงานนี้เป็นงานแรกของสถาปนิกทั้งสอง ที่ได้รับการตีพิมพ์แพร่หลายมากมาย จนเป็นที่รู้จัก และก็ทำให้ มาสึดะและโอตสึโบะ ได้รับรางวัล AR Award นั่นเอง
แต่งานที่จะพูดถึงในที่นี้ ไม่ใช่โปรเจกต์ Boundary Window ที่ทุกคนคุ้นเคย แต่เป็นงานเล็กๆอีกงานหนึ่ง ของ มาสึดะและโอตสึโบะ ที่ถ้าพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว จะพบว่า ภายใต้รูปลักษณ์ที่ดูธรรมดามากนั้น เป็นงานที่อาจจะมีประเด็นคำถามที่น่าสนใจมากกว่า Boundary Window เสียด้วยซ้ำไป
โปรเจกต์เล็กๆ ที่ชื่อว่า Living Pool นั้น เป็นงานปรับปรุงอาคาร บ้านหลังไม่ใหญ่ ที่อยู่ชานเมือง Tendō ในเขต Yamagata ซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียว เตี้ยๆ ที่เจ้าของบ้าน ไม่อยากรื้อทิ้ง สร้างใหม่ แต่อยากจะปรับปรุงโดยคงลักษณะเฉพาะเดิมๆของบ้านหลังเล็กที่เต็มไปความทรงจำเอาไว้ แต่ในขณะเดียวกัน เจ้าของบ้าน ก็อยากจะทำให้พื้นที่ ที่ทั้งเล็กและเตี้ยนั้น สามารถใช้งานได้ดีขึ้น โปร่งโล่งมากขึ้น ลดความอึดอัดปิดทึบของบ้านหลังเดิม และอยากให้ระบบการใช้งานของพื้นที่ในบ้านนั้นเปลี่ยนแปลงไปด้วย เพื่อสร้างชีวิตใหม่ให้กับบ้านหลังเดิม
การสร้างชีวิตใหม่ให้กับพื้นที่โดยยังคงร่องรอยความทรงจำเดิมนั้น เป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายเลย เพราะคำถามแรกที่สถาปนิกผู้ออกแบบต้องตอบคือ พวกเขาจะคงร่องรอยเดิมเอาไว้แค่ไหน จะปรับเปลี่ยนมากแค่ไหน การใช้ชีวิตจึงจะเปลี่ยนไปได้ ภายในโครงร่างของพื้นที่เดิม โจทย์แรกของการทำบ้านเตี้ยๆ ให้โปร่งโล่งขึ้น ดูเหมือนจะตอบได้ด้วยการรื้อโครงหลังคาออก ปรับความสูงของบ้านใหม่ทั้งหมด เพื่อให้พื้นที่มี volume ที่สูงขึ้น และสามารถสร้างช่องเปิดที่โปร่งโล่งขึ้น แต่วิธีการจัดการกับปัญหาของความอึดอัดในบ้านหลังนี้ ก็ดูเหมือนจะเป็นวิธีที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากเกินไป จนภาพของบ้านเดิมแทบไม่เหลือเลย เมื่อมองจากภายนอก รวมทั้งเมื่อตัวบ้านสูงใหญ่ขึ้น มันก็จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านหลังนี้กับเพื่อนบ้าน และสิ่งที่อยู่รายรอบ เปลี่ยนแปลงไปมากด้วย
เมื่อคิดได้ดังนั้น มาสึดะและโอตสึโบะ จึงสรุปว่า การรื้อหลังคาบ้านและปรับความสูง ไม่น่าจะใช่วิธีที่ดีที่สุด แต่ถ้าไม่ทำเช่นนั้น วิธีที่เหลือ ก็อาจจะเป็นการเจาะช่องเปิดเพิ่ม ทำลายผนังทึบรอบๆบ้าน และทำเป็นช่องเปิดขนาดใหญ่แทน ซึ่งวิธีนี้ ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ความอบอุ่นเป็นส่วนตัวของบ้านเดิมอีกเหมือนกัน การทำให้บ้านกลายเป็นตู้กระจก ไม่น่าจะดี มาสึดะและโอตสีโบะ จึงเริ่มมองหาความเป็นไปได้อื่น จากการศึกษาประวัติของการสร้างบ้าน วิธีการก่อสร้างในท้องที่นั้น จนกระทั่งทั้งสองคิดขึ้นมาได้ว่า ถ้าไม่ปรับให้อาคารสูงขึ้น การปรับให้อาคารต่ำลงก็อาจจะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง ซึ่งฟังดูเผินๆ เหมือนจะเป็นทางเลือกที่ฟังดูไม่เข้าท่าเอาเสียเลย เพราะบ้านเดิมนั้นเตี้ยอึดอัด ถ้าเราทำให้อาคารต่ำลง มันดูจะเป็นคำตอบที่ประหลาดและไม่น่าเป็นไปได้
แต่คำตอบที่ชาญฉลาด อยู่ที่ว่า ทั้งมาสีดะและโอตสึโบะ ค้นพบพื้นที่ที่แอบซ่อนอยู่ ที่ไม่มีใครนึกถึง และไม่มีใครเคยรู้ว่า จะเอามันมาใช้งานเป็นส่วนหนึ่งของบ้านได้ด้วย นั่นก็คือพื้นที่ระหว่างฐานราก ที่เคยอยู่ใต้ดิน ซึ่งถ้าเราขุดเป็นหลุมลงไป เราก็จะพบที่ว่างระหว่างตอม่อเสา ที่เคยถูกปิดอยู่ใต้พื้นบ้าน มัตสิดะและโอตสิโบะ จึงทำการรื้อพื้นบ้านออกบางส่วน ขุดหลุมพื้นที่ระหว่างตอม่อ เพื่อเปิดเผยให้เห็นที่ว่างที่ถูกลืม และเอาพื้นที่เหล่านั้นกลับมาใช้งาน เพิ่ม Volume ให้กับทุกพื้นที่ในบ้าน และสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ในบ้านเอง และความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ภายในบ้านกับพื้นที่ภายนอก การขุดหลุมหรือที่มาสึดะและโอตสึโบะเรียกว่า Pool นี้ และฝังพื้นที่ใช้งานลงใน Pool นอกจากจะทำให้สามารถเปิดหน้าต่างได้สูงใหญ่กว่าเดิมแล้ว ยังทำให้พื้นที่ใช้งานมีความเป็นส่วนตัว หลบซ่อนจากสายตาภายนอกได้ และนอกจากนั้น รูปลักษณ์ภายนอกของบ้าน ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย
การตั้งคำถามกับขอบเขตของพื้นที่หรือ Boundary ในโปรเจกต์นี้ จึงไม่ใช่การทำงานกับขอบเขตจากระนาบทางตั้งที่เราคุ้นเคยกัน แต่เป็นการตั้งคำถามกับระดับของผืนดินและการสร้างพื้นที่จากความต่างระดับหรือ Leveling Land ที่เราพบเสมอในการสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของญี่ปุ่น ความน่าสนใจของงาน Living Pool จึงไม่ใช่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ไม่มีใครทำมาก่อน แต่เป็นการค้นพบและตีความสิ่งที่มีอยู่แล้ว ให้เกิดชีวิตใหม่ภายใต้ความทรงจำเดิมอย่างแท้จริง