HOME STUDIO
ภายใต้บรรยากาศบ้านๆ สถาปนิกและนักออกแบบสร้างสรรค์ผลงานที่มีมากกว่าบ้าน ภายใต้ชื่อสำนักงานจูน เซคิโน อาร์คิเทคต์ แอนด์ ดีไซน์
บ้านเก่าที่ยังคงเอกลักษณ์ของรูปแบบสถาปัตยกรรม Post Modern ซึ่งมักจะเห็นในบ้านจัดสรรยุค 60-70 ของกรุงเทพได้รับการดัดแปลงให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายใน จูน เซคิโน อาร์คิเทคต์ แอนด์ ดีไซน์ หุ่นจำลองอาคารประเภทต่างๆ มากมายตั้งแสดงอยู่ตามมุมต่างๆ ของบ้านแสดงให้เห็นว่าตั้งแต่การก่อตั้งเมื่อปี 2008 นักออกแบบที่นี่ได้สร้างสรรค์ผลงานไว้หลากหลาย ทั้งโรงแรม อาคารสำนักงาน หรือแม้กระทั่งโรงเรียนซึ่งทำให้พวกเขาได้รับรางวัล Building Of The Year จาก ARCASIA Awards 2018 แต่ถึงอย่างนั้น งานที่พวกเขาเรียกกันว่า ‘ถูกจริต’ ที่สุดก็คือการออกแบบบ้านพักอาศัย
เวลาปลูกบ้านก็ต้องทำให้ถูกใจคนอยู่ พอถึงคราวต้องสร้างสรรค์ที่ทำงานของตนเอง จูนและทีมนักจึงจำลองบรรยากาศแบบบ้านๆ มาไว้ในสำนักงานของพวกเขาบ้าง "ออฟฟิศเราทำบ้านเยอะ เราก็เลยอยากให้ออฟฟิศเรามีความเป็นบ้านๆ ไม่อยากให้มันเป็น Office Building หรือ Office Space” จูน เซคิโน่ ผู้ก่อตั้งสำนักงานแห่งนี้กล่าว "อยากให้เหมือนอยู่บ้านกัน ก็เหมาะกับจริตของพวกเราดี มีความบ้านๆ สบายๆ ไม่ต้องใส่ไทค์ ใส่เชิ้ต มีมอรเ์ตอร์ไซค์ ปั่นจักรยานออกไปซื้อของเซเว่น ชอบอะไรแบบนี้"
บรรยากาศการทำงานที่นี่ดูผ่อนคลายคล้ายกับว่าทุกคนขนงานมาทำรวมกันในห้องนั่งเล่นของบ้านเพื่อน โต๊ะทำงานที่นี่ไม่มีการกั้นเป็นคอก ทีมนักออกแบบนั่งหันหน้าเข้าหากันในโต๊ะตัวใหญ่ที่เต็มไปด้วยคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์การออกแบบ การจัดพื้นที่แบบนี้เอื้อให้พวกเขาสามารถสบตากันได้ง่ายขึ้น “เวลานั่งจะเกิด Eye Contact ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องดี เวลาทำงานจะเห็นแล้วว่าวันนี้คนนี้ไม่โอเค ปวดท้อง...เมนส์มา” จูน เซคิโน่ กล่าว “ผมรู้สึกว่ามันเป็น Life เป็น Family มันจะเกิดการแคร์กัน ฟังเสียงก็ต้องเบาๆ เดี๋ยวจะไปกวนคนอื่น แต่บางทีฟังรายการดีเจคนนี้อยู่ เสียงดังก็ฟังด้วยกัน ตลกด้วยกัน ผมรู้สึกว่ามันมีส่วนที่เป็นส่วนร่วมกัน มันคือสตูดิโอ”
เหล่าสถาปนิกจับจองพื้นที่ชั้นล่างของบ้านเป็นแหล่งสร้างสรรค์ผลงาน โดยที่บรรดานักออกแบบตกแต่งภายในยืดพื้นที่ชั้นสองเป็นที่ประจำการ ถึงแม้พวกเขาจะมีอิสระในการทำงานของตนเองโดยไม่ขึ้นต่อกัน แต่เมื่อพวกเขาร่วมมือกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือทีมสร้างสรรค์ที่แข็งแรง “มันก็เป็นส่วนที่ Balance ดีนะ บางทีก็มองคนละมุมเลย แต่ก็คุยกันได้ ไม่จำเป็นต้องมองเหมือนกัน จะเป็นอะไรที่ทำให้เราไม่คิดอะไรด้านเดียว บางทีอินทีเรียจะมาคอยเตือนเรา มันก็จะกลมขึ้น มนขึ้น บางทีเรา Aggressive มากไป อินทีเรียก็จะทำให้เรา Soft ลง” จูนเล่า “ส่วนใหญ่สถาปนิกจะเป็นไม้แรก แต่ก็จะบอกอินทีเรียไว้เนิ่นๆ ว่าจะมีอันนี้นะ บางทีในช่วงที่เราทำงานสถาปัตยกรรม อินทีเรียเขาก็จะมาเป็นระยะๆ เช่น เอาแปลนไปช่วยดูหน่อย แล้วเขาก็จะเกริ่นมาว่าเดี๋ยวจะมาปรับตรงนี้นะ คือทำงานคู่ขนานกันไปแหละ”
นอกจากพื้นที่ทำงาน บ้านหลังนี้ยังมีพื้นที่พิเศษเตรียมไว้สำหรับใช้ในกิจกรรมร่วมกันอีกด้วย “ผมชอบ Pantry หลังบ้าน เป็นอะไรที่โคตรเวิร์ค กินเบียร์ นั่งคุย อกหักรักคุด เป็นพื้นที่ละลายพฤติกรรม” จูนเล่า “คือนั่งโต๊ะก็ต้องทำงานแหละ เพียงแต่เวลาคุย นั่งคุยบนโต๊ะ เด็กก็เกร็ง ก็ไปนั่งกินกาแฟกัน สั่งพิซซ่ามากิน นั่งคุยงานกัน แชร์กัน ผมก็นั่งฟัง นั่งคอมเม้นต์”
ที่สำนักงานออกแบบแห่งนี้ บ้านก็เปรียบเสมือนร่างกาย ส่วนจิตวิญญาณของ จูน เซคิโน อาร์คิเทคต์ แอนด์ ดีไซน์ ก็คือทีมสถาปนิกและนักออกแบบทุกคน สำหรับจูน สมาชิกในบ้านแต่ละคนมีความผูกพันธ์กันในแบบที่น่าสนใจ ทั้งเพื่อนร่วมงานที่รู้ใจจนกลายมาเป็นคุณครูใหญ่ของน้องๆ หรือลูกศิษย์ที่เปลี่ยนมาเป็นลูกน้องและกลายเป็นหุ้นส่วนของบริษัทในที่สุด การเลือกนักออกแบบแต่ละคนให้เข้ามาร่วมชายคาที่นี่ไม่ได้วัดที่ผลงานการออกแบบเป็นหลัก หากแนวคิดและมุมมองในการใช้ชีวิตก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้าม “ผมรู้สึกว่าทัศนคติของคนเป็นสิ่งสำคัญ เขาจะมาทำงานกับพวกเรา ถ้าเขามาเป็นวิตามิน มันทำให้พวกเราดี แต่ถ้าเป็นไวรัสล่ะ ร่างกายเราก็จะปั่นป่วน” จูนกล่าว “เวลารับพนักงานผมไม่สัมภาษณ์คนเดียวนะ ผมให้ทุกคนมานั่งฟังด้วย เพราะเขาจะต้องทำงานด้วยกัน เขาต้องเลือกด้วย เขาก็เลือกคนที่นั่งข้างๆ เขา มีส่วนรับผิดชอบเล็กๆ ในสิ่งที่เขาเลือก ไม่ได้บังคับ และเขาจะแคร์กัน น้องคนนี้เลือกมา เอ้ยมันตั้งใจนะ สงสารมัน”
ในขณะที่ใครหลายๆ คนมักจะหมดพลังไปกับการทำงาน และต้องคอยเดินทางไปหาพื้นที่เติมพลังให้ชีวิต แต่สำหรับจูน ห้องกระจกด้านหน้าของบ้านหลังนี้คือแหล่งพลังงานชั้นเยี่ยมของเขา โต๊ะทำงานตัวใหญ่ของจูนกินพื้นที่กว่าครึ่งของห้องนี้ กระดาษแบบร่างที่มีรูปสเก็ตผังพื้นอาคารหลังหนึ่งซึ่งแปะอยู่บนฝาผนังสีขาวด้านหลังจอคอมพิวเตอร์ และไม้ T-Slide ที่ตรึงอยู่บนโต๊ะ พร้อมกับอุปกรณ์เครื่องเขียนครบครันแสดงให้เห็นว่าทุกวันนี้จูนยังคงนิยมการออกแบบด้วยมือ "ผมชอบเขียนเอง คนอื่นแข็งกันเร็ว แต่ผมอยากให้มันช้า นั่งเหลาดินสอ ค่อยๆ เขียน นั่งตัดโมเดลเอง ผมเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เรียนวันแรก" จูนกล่าว "ผมมีความสุขมากเลยเวลาที่ได้มานั่งที่โต๊ะ มันเป็นที่ซึ่งให้พลัง เป็นที่ซึ่งทำให้เรามีคุณค่า ทุกครั้งที่นั่งโต๊ะ มันคงเป็นเหมือนแท่นชาร์จแบตมือถือมั้ง"