ครั้งแรก!ที่ขยะในทะเลไทยก้าวสู่สินค้าแฟชั่นมากคุณค่า
แคมเปญรักษ์โลกจะไม่เป็นเพียงแค่กระแสอีกต่อไป เมื่อหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกันอย่างต่อเนื่องไม่ลดละ ในยุคที่ชาวโลกต่างตระหนักถึงปัญหาขยะล้นโลก จึงเกิดเป็นกลยุทธ์ให้กับแบรนด์สินค้าแฟชั่นหลากหลายแบรนด์ที่พร้อมใจหันมาให้ความสำคัญกับคีย์เวิร์ด GREEN และ ECO เพื่อเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นและสร้างความสมดุลให้กับธรรมชาติ แบรนด์สินค้าต่างๆ เริ่มมีแนวทางการขยายธุรกิจไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยรณรงค์ให้ใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติรีไซเคิลได้ เมื่อใช้งานจนเสื่อมสภาพจนกลายเป็นขยะก็ยังสามารถนำกลับมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แบบอื่นๆ ได้อีก รวมไปถึงการใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้มาเป็นส่วนประกอบหลัก จนเกิดเป็นมิติใหม่ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการสร้างไลฟ์สไตล์แฟชั่นรักษ์โลกที่ตอบโจทย์คนในปัจจุบัน
ไอเดียรักษ์โลกจากแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นกลางแจ้งอย่าง Timberland ที่ร่วมมือกับบริษัท Thread ผลิตสินค้าคอลเลคชั่นที่ประกอบไปด้วยเสื้อยืด รองเท้าบูท กระเป๋า ที่ดูเท่และมีสไตล์ โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดผลิตจากขยะพลาสติกที่เก็บจากถนนและคลองในประเทศเฮติ แคมเปญนี้ซึ่งไม่เพียงเป็นการช่วยลดปริมาณขยะเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างรายได้ให้คนในชุมชนได้อีกด้วย
แบรนด์กีฬายักษ์ใหญ่อย่าง adidas ก็เคยผลิตรองเท้าวิ่งที่ทำจากวัสดุเหลือใช้และขยะพลาสติก โดยร่วมมือกับ Parley of the Oceans องค์กรที่ปกป้องทะเลจากขยะพลาสติกและมลภาวะที่สร้างความเสียหายให้กับทะเล ซึ่งรองเท้ารุ่นพิเศษนี้ถูกทำขึ้นจากเศษขยะพลาสติกที่เก็บจากใต้ท้องทะเล ผสมกับเส้นใยสังเคราะห์และลวดเส้นบางๆ สีเขียวจากอวนดักปลา
หรือแม้แต่แฟชั่นดีไซเนอร์อันดับต้นๆ Monique Collignon เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าสตรีระดับโลก Monique Collignon ก็แสดงความผิดชอบต่อโลกใบนี้ด้วยการนำขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งขว้างมาดัดแปลงเป็นผลงานเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นสูง (โอต์ กูตูร์) ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างการตระหนักรู้และเป็นแรงผลักดันให้คนหันมาสนใจถึงการจัดการขยะพลาสติกที่กำลังคุกคามโลกของเรามากขึ้นทุกวัน
Upcycling the Oceans, Thailand อีกหนึ่งโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อดูแลท้องทะเลไทย จัดการขยะอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยเริ่มจากความร่วมมือของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมูลนิธิ Ecoalf จากประเทศสเปน รวมไปถึงชาวบ้าน อาสาสมัครนักดำน้ำที่ร่วมใจลงแรง เก็บขวด ถุงพลาสติกที่ถูกทิ้งตามชายหาดและในทะเลบริเวณเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง และจังหวัดภูเก็ต จนได้ขยะพลาสติกปริมาณมากถึง 20 ตัน ภายในระยะเวลา 20 เดือน จากนั้นนำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบผสานกับใส่ความคิดสร้างสรรค์จนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์คอลเลคชั่นแรกของประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วย เสื้อยืด และกระเป๋าเป้ ที่ทำจากขวดพลาสติก PET และกระเป๋าถือที่ผลิตจากขยะพลาสติกโพลีเอทิลีน ซึ่งขั้นตอนการดำเนินงานของโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ไม่เพียงแต่เก็บขยะพลาสติกมารีไซเคิลเท่านั้น แต่เป็นการยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มในการกลับมาใช้ซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นโครงการที่สร้างจิตสำนึกของคนไทยทุกคนให้ช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
Trash to Treasure Designed by James Jirayu
ดีไซน์พิเศษ ลิมิเต็ด เอดิชั่น ผลงานการออกแบบของเจ้าชายแห่งวงการรีไซเคิล เจมส์ จิรายุ ตั้งศรีสุข ที่ถ่ายทอดคอนเซ็ปต์ From Trash to Treasure ผ่านการวาดลวดลายนาฬิกาทรายที่สะท้อนถึงการนำขยะพลาสติกมาแปลงร่างเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นที่เพิ่มมูลค่าอย่างลงตัว
ดีไซน์พิเศษ ลิมิเต็ด เอดิชั่น ผลงานการออกแบบของเจ้าชายแห่งวงการรีไซเคิล เจมส์ จิรายุ ตั้งศรีสุข ที่ถ่ายทอดคอนเซ็ปต์ From Trash to Treasure ผ่านการวาดลวดลายนาฬิกาทรายที่สะท้อนถึงการนำขยะพลาสติกมาแปลงร่างเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นที่เพิ่มมูลค่าอย่างลงตัว
ซึ่งหลังจากที่คอลเลคชั่นเสื้อยืดและกระเป๋าเป้ที่ผลิตจากขวดพลาสติกใสได้ถูกปล่อยออกมาก่อนหน้านี้ สิ่งที่เรียกว่าความสำเร็จนั้น ไม่ได้อยู่ที่สินค้าสามารถขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว แต่ความสำเร็จของโครงการคือ สามารถสร้างการตระหนักรู้ถึงการจัดการขยะพลาสติกในทะเลไทย และกระตุ้นให้ทุกคนช่วยกันดูแลโลกของเราได้ไม่มากก็น้อย
“ถึงเวลาแล้วที่พวกเราทุกคนจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์การจัดการขยะบริเวณชายฝั่งและในทะเลไทยอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดปัญหาขยะในทะเลควบคู่ไปกับการสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทย ให้คงความสวยงามเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก”