ลึกเข้าไปผ่านผืนป่า ห้อมล้อมไปด้วยสวนกล้วย ของขวัญชิ้นใหญ่สำหรับนักอ่านในชุมชนแก่งกระจานใกล้จะถึงเวลาได้แกะกล่องในไม่ช้า
คนจะอ่านหนังสือในสภาพแวดล้อมแบบไหน? อ่านบนรถ อ่านในห้อง หรืออ่านในที่ซึ่งสามารถทอดสายตาไปออกไปเห็นสุมทุมพุ่มไม้สีเขียวไกลสุดสายตา เวลาที่ฝนตกก็มีม่านน้ำไหลลงมากระทบผืนกรวดไม่ขาดสาย เมื่อมีโอกาสได้ออกแบบห้องสมุดให้ผู้คนในชุมชนแก่งกระจาน จูน เซคิโน่ สวมวิญญาณของชาวบ้านในท้องถิ่นแล้วจินตนาการถึงอาคารที่เป็นมิตรและเชื้อเชิญให้ผู้คนในชุมชนอยากเข้ามาสัมผัส อาคารที่เขาเรียกว่าเป็น “กล่องใส่หนังสือ” ซึ่งบางเบาและกลมกลืนจนแทบจะละลายหายไปเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมของมัน
“เราต้องเคารพบริบท คือบริบทมันดีมาก ตั้งอยู่เฉยๆ มองไปข้างนอกก็สวยแล้ว เขียวไปหมด คือเราคิดว่าความรู้สึกเหมือนเราไม่ได้นั่งอ่านหนังสืออยู่ในห้องสมุด นั่งอ่านหนังสือแล้วมองไปเห็นเขียวๆ คงจะดี...นั่งห้อยขาด้วยนะ “ จูน กล่าวพร้อมรอยยิ้ม “คือตอนคิดโครงการนี้อ่ะ มันอารมณ์เหมือนบ้านต่างจังหวัด นั่งชานชาลาฝนตกติ๋งๆ นั่งอ่านหนังสือขายหัวเราะอยู่ ออกไปเห็นต้นไม้เขียวๆ ชื้นๆ”
จูนอธิบายว่าห้องสมุดแห่งนี้เกิดขึ้นจากจับกลุ่มของก้อนสี่เหลี่ยมเก้าก้อน โดยก้อนที่มุมทั้งสี่เป็นที่ตั้งของชั้นหนังสือ ส่วนก้อนตรงตรงกลางก็ตั้งเป็นเคานเตอร์ทำงานสำหรับให้บรรณารักษ์ ส่วนสี่ก้อนที่เหลือด้านข้างเป็นพื้นที่สำหรับนั่งอ่านหนังสือ พื้นที่ด้านในทั้งหมดเปิดโล่งสามารถเดินเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างเสรี เปิดโอกาสให้บรรดานักอ่านสามารถเลือกหยิบหนังสือจากชั้นแล้วหาที่นั่งจับเจ่าแล้วจมจ่อมกับการอ่านที่มุมไหนก็ได้ตามใจต้องการ ส่วนบรรณารักษ์ซึ่งมีเพียงคนเดียวก็สามารถสอดส่องดูแลความเรียบร้อยภายในได้อย่างทั่วถึง
“ผมรู้สึกว่าชอบงานนี้ในแง่ที่มันวางแปลน Simple ดูเหมือนจะไม่น่าสนใจ ซื่อบื้อๆ มากเลย เป็นกล่องเก้ากล่องแล้วก็ทำชายคาออกมา” จูนกล่าว “เราอยากให้มันง่ายๆ ในเชิงวัตถุ แต่ในเรื่องของความรู้สึก อารมณ์ของพื้นที่เวลาที่เราไปแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะยืนมองจากข้างนอกหรือเข้าไปนั่งข้างใน ไม่มีระดับขั้นของการเข้าถึง จะเข้าจากมุมไหนของอาคาร จะนั่งมุมไหนก็ได้ ผมรู้สึกว่าพอเราปล่อยวางเครื่องมือการออกแบบของเราที่พยายามจะชัดเจน มันก็จะได้งานที่รู้สึก Relax มาก”
อาคารที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายนี้ได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นรูปทรงรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมที่เรียบง่ายซึ่งใส่หนังสือเอาไว้ภายใน ผนังที่โปร่งแสงช่วยทำให้อาคารดูบางเบาจนแทบจะซ่อนหายไปกับแมกไม้รอบข้าง มีเพียงเงาเลือนรางของชั้นหนังสือปรากฏอยู่รำไรในเวลากลางวัน แต่เมื่อถึงเวลาพลบค่ำที่บรรยากาศภายนอกมืดลง แสงจากภายในก็จะทำให้ห้องสมุดแห่งนี้ส่องสว่างขึ้นมา เผยให้เห็นความเป็นไปของกิจกรรมภายในได้อย่างชัดเจน "สิ่งที่เป็นพระเอกที่สุดของงานนี้คือหนังสือกับคนอ่าน ตัวสถาปัตยกรรมก็ค่อยๆ หายไป" จูนอธิบาย
ความเรียบง่ายที่ทำให้ห้องสมุดแห่งนี้ดูคล้ายศาลาหรือเพิงที่พักชั่วคราวนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมแบบไทยๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการออกแบบของสถาปนิก "ตอนทำโรงเรียนพอดีพอดีผมได้ข้อคิดอะไรบางอย่าง คืองานมันไม่จำเป็นจะต้องAggressive หรือว่าถาวรมาก" จูนกล่าว "ผมรู้สึกว่างานที่ชาวบ้านทำ เพิงข้างทางขายไก่ต้มขายสายไหม มันมีความชั่วคราวอยู่ เพราะจริงๆ คนเราต้องการแค่นั้นเอง"
เมื่อสถาปนิกวางเครื่องมือและทฤษฎีต่างๆ ไว้ที่สำนักงานในเมืองแล้วใช้วิญญาณออกแบบจากหัวใจของผู้ใช้งานจริงๆ กล่องใส่หนังสือแห่งนี้จึงกลายเป็นห้องสมุดที่พร้อมจะอ้าแขนต้อนรับผู้คนในชุมชนอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง ห้องสมุดที่ละม้ายคล้ายเพิงหรือศาลาเปิดโล่งที่ดูเป็นมิตรและเชื้อชวนให้ชาวบ้านซึ่งเดินสวมรองเท้าแตะอยากลองแวะเข้ามาสัมผัส หลังเลิกเรียนเด็กๆ ก็สามารถจะนัดกันมานั่งทำการบ้านได้อย่างไม่ขัดเขิน ที่ป่ากลางสวนกล้วยแห่งนี้ ห้องสมุดประชาชนแห่งใหม่พร้อมที่จะเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้