"ทางสามแพร่ง" คงเป็นตำแหน่งที่ตั้งของบ้านที่คนไทยหลายคนพยายามจะหลีกเลี่ยง แต่ลึกเข้าไปในซอยสุขุมวิท 49 หัวมุมทางสามแพร่งแห่งหนึ่งเป็นสถานที่ที่ช่างภาพชาวเยอรมันเลือกให้เป็นบ้านและแกลเลอรี่ของเขากับภรรยา
Photography :
Tanapol Kaewpring
Writer :
Dorsakun Srichoo
"ข้างล่างเป็นแกลเลอรี่ ชั้นสองชั้นสามเป็นบ้าน" จูน เซคิโน่ อธิบายให้ฟังถึงแผนผังคร่าวๆ ของบ้านหลังนี้ "ข้างล่างเป็นที่เปิดสำหรับสาธารณะ มีห้องน้ำ มีพื้นที่สำหรับ Exhibition ด้วย ข้างล่างมันจึงจอแจ แต่พอขึ้นไปชั้นสอง เราจะเห็นยอดของบ้านข้างๆ บริบทมันเป็นชุมชนที่หนาแน่นของกรุงเทพ"
ท่ามกลางความแออัดของบริเวณรอบข้าง ช่างภาพชาวเยอรมันเจ้าของบ้านเห็นว่าทิวทัศน์แบบนี้มีความเป็นกรุงเทพและมีลักษณะของความเป็นไทยที่น่าสนใจ ด้วยบริบทของหมู่บ้านที่หนาแน่น การย้ายจากชั้นหนึ่งขึ้นมาที่ชั้นสองสามารถยกระดับมุมมองได้อย่างน่าประหลาดใจ “การได้เห็นหลังคาบ้านคนอื่นมันให้ความรู้สึกอิสระมากเลย” จูนเล่าขณะมองออกไปจากชั้นสองของบ้านที่ตั้งอยู่หัวมุมหลังนี้
“บ้านหลังนี้มันขัดแย้งกันไปหมด ทั้งที่ตั้งและบริบทของมัน ดูสายไฟสิ” จูนชี้ชวนให้ดูสายไฟระโรงระยางที่พาดผ่านหน้าบ้าน “มันเป็นแกลเลอรี่ภาพถ่ายนิ่งๆ แล้วมีบ้านอยู่ข้างบน ผมรู้สึกว่าเป็นบ้านที่มีความขัดแย้งสูงมาก เป็นบ้านที่ตัดกันแบบดำกับขาวเลย” จูนดึงมุมมองแบบ Positive Negative ของภาพถ่ายมาใส่ในการออกแบบบ้านหลังนี้ “เราเสนอเรื่องของมุมเหลี่ยมๆ เข้าไปในที่ตั้งซึ่งไม่มีใครทำแล้วเราลองทำดู มันเลยเกิดเป็นมุมมองสามเหลี่ยมที่ไม่ได้ฉาก ขาดบ้างแหว่งบ้าง ซึ่งก็โอเค รูปร่างที่แปลกตานั้นไม่ได้เกิดจากผมตั้งใจ หากเกิดจากตำแหน่งที่ตั้ง เกิดจากบริบท เกิดจากสภาพแวดล้อมมันบังคับให้บ้านต้องเป็นอย่างนี้ หลังคาเองก็ด้วย”
จูนยอมรับว่าการออกแบบบ้านบนที่ดินผืนเล็กๆ ในซอยแคบๆ ท่ามกลางความแออัดของกรุงเทพมหานครเป็นโจทย์ที่ยากมาก แต่บนความยากก็มีความน่าสนุกแฝงอยู่ “เมื่อไซต์บังคับมาว่ารูปทรงมันต้องเป็นสามเหลี่ยม สถาปนิกก็มานึกว่าสามเหลี่ยมจะทำเป็นอะไรได้บ้าง เราก็มานั่งนึกเรื่องความเป็นไปได้ของสามเหลี่ยม ปรากฏว่าเป็นได้เยอะมาก บิดแปลนได้ด้วย ซึ่งเราลองมาหมดแล้ว” จูนเล่าด้วยความกระตือรือร้น
นอกจากการใฃ้สีขาวตัดกับสีดำ การเลือกใช้วัสดุต่างๆ ก็มีการจับคู่ที่ขัดแย้งให้มีอยู่ด้วยกันได้อย่างลงตัว ทั้งผนังขัดมัน กำแพงปูนเปลือยกับผนังอิฐสีเทาเข้ม หนังชั้นต่างๆ เหล่านี้ไม่เพียงออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์ด้านความสวยงามเท่านั้น หากยังตอบโจทย์การใช้งานของบ้านอีกด้วย จูนอธิบายว่าผนังของบ้านนี้ทำหน้าที่เหมือนเสื้อผ้าที่ช่วยเป็นเปลือกป้องกันเรื่องเสียง แสงและก่อให้เกิดความเป็นส่วนตัว คนจากภายนอกจะไม่สามารถมองเห็นกิจกรรมภายในพื้นที่ชั้นสองและสาม ทำให้เกิดความเป็นส่วนตัว แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถระบายอากาศและรับแสงธรรมชาติได้ด้วย
มุม 45 องศาของหน้าบ้านช่วยลดแรงปะทะของทางสามแพร่ง การใช้ผนังปูนแผงใหญ่ก่อให้เกิดเส้นแบ่งความวุ่นวายภายนอกกับความสงบภายใน ชั้นล่างนอกจากจะเป็นแกลเลอรี่แล้วยังมีห้องอัดรูปขนาดใหญ่อยู่ด้วย "กำแพงอิฐสามเหลี่ยมเป็นไฮไลท์สำคัญเลย" จูนอธิบายถึงการออกแบบเพื่อตอบโจทย์เรื่องความเป็นส่วนตัว "การเปลี่ยนบริบทที่ดูแล้วไม่น่าจะเป็นบ้านที่อยู่แล้วเป็นส่วนตัวได้แต่มันเป็นส่วนตัวจริงๆ มันเป็นความขัดแย้งมากๆของโครงการนี้ มันขัดแย้งด้วยแปลนที่เราต้องทำให้สบายแต่มันเป็นสามเหลี่ยม อยู่ข้างในแล้วต้องเอียงตัวตลอด แต่พอมาอยู่แล้วมันให้ความรู้สึกว่าเพราะแบบนี้แหละมันเลยให้ความเป็นส่วนตัว เพราะแกนในบ้านหลังนี้มันไม่เหมือนคนอื่น ความสัมพันธ์ของสเกลตั้งแต่ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ จนถึงระดับของบ้านข้างๆ มีผลมาก แกนบ้านหลังนี้มันไม่ได้ปะทะกับใครเลย มันเลยมีความเป็นส่วนตัว"
ที่ดินผืนน้อยบนทางสามแพร่งในทำเลที่หนาแน่นไปด้วยบ้านเรือน กับแกนเอียงๆ ของอาคารสีขาวดำ ดูเผินๆ "บ้านมุม" หลังนี้อาจจะไม่ใช่บ้านในฝันสำหรับคนทั่วไป แต่ด้วยการออกแบบที่จัดระบบกับความขัดแย้งต่างๆ ได้อย่างลงตัว เมื่อการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ บ้านบวกแกลเลอรี่แห่งนี้กำลังจะทำหน้าที่เป็นบ้านอันอบอุ่นที่ตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของบ้านได้อย่างครบถ้วนในอนาคตอันใกล้