First Crack’s Laboratory
จากความจริงจังในครัวเรือน สู่โรงคั่วประตูเขียวในรั้วบ้าน
กาแฟ เป็นหนึ่งในพืชที่มีความพิเศษสำหรับการถ่ายทอดเรื่องราวพื้นถิ่นของแหล่งกำเนิดตนเองออกมายังปลายทางได้อย่างดีเยี่ยม แต่วิธีเล่าเรื่องผ่านเมล็ดกาแฟกลับมีตัวแปรมากมายกว่าจะเดินทางมาถึงรสชาติ ซึ่งหนึ่งในปัจจัยหลักนั้นคือการคั่วเมล็ด อันถือได้ว่าเป็นวิธีการออกแบบรสชาติ เนื่องจากผู้คั่วส่วนใหญ่จะทำความเข้าใจธรรมชาติของกาแฟก่อนใช้วิธีคั่วที่เหมาะสมเพื่อดึงตัวตนของเมล็ดออกมา การคั่วเมล็ดจึงเป็นศาสตร์ที่รวมศิลป์ศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเรื่องเหนือธรรมชาติเข้าด้วยกัน ความซับซ้อนของกรรมวิธีจึงสามารถเรียกผู้ที่เริ่มจากความสนุกกับการเสาะหาเมล็ดกาแฟ เพื่อมาบดและชงดื่มเอง จนกลายมาเป็นคนคั่วเองนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่สนุกกับการทดลอง และออกแบบวิธีเสพศิลป์จากแก่นของกาแฟไปแล้ว
    กลิ่นน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดกาแฟผสมกลิ่นไหม้ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ คล้ายกลิ่นขนมปังที่อบอยู่ในเตา ความเข้มข้นของกลิ่นผสมกลิ่นต้นไม้ในสวนลอยอวลมาจากส่วนที่เคยเป็นพื้นที่ของไม้ยืนต้นในรั้วบ้าน ที่มีอิฐมอญสีแดงผสมปูนเปลือย
    เรือนหลังเล็กเคียงบ้านใหญ่นี้ ถูกสร้างจากสัจจะวัสดุเช่นเดียวกับตัวบ้านจนออกมาเป็นภาษาเดียวกัน ราวกับว่ามันทำหน้าที่เป็นเพียงส่วนประกอบ เป็น Shelter ของการใช้งาน และเป็น Shelter ของแก่นชีวิตที่ไม่ได้ปรุงแต่ง แต่ได้รับการออกแบบมาอย่างดีตามวัสดุท้องถิ่นนั้น ตัวเรือนมีขนาดพื้นที่กว้างไม่เกิน 20 ตารางเมตร ที่มีประตูไม้สีเขียวซีดๆ เป็นทางเข้า รูปด้านมีหน้าต่างถึงสามด้าน โดยเปิดช่องหน้าต่างกับฝั่งที่เชื่อมตัวบ้านมากที่สุด ด้านหน้าของเรือนเบี่ยงไปกำแพงมีบันไดเหล็กทางขึ้นสู่พื้นที่ปลูกผักสวนครัวบนดาดฟ้า เรือนน้อยหลังนี้ถูกสร้างเป็นโรงคั่วเมล็ดกาแฟ และโรงอบขนมปังของ “Sunny Bear Coffee Roasters” ที่มีคุณกอไผ่ และคุณนิลบล ปาณินท์ เป็นเจ้าของ ดำเนินความตั้งใจต่อยอดมาจากความจริงจังภายในครัวเป็นโรงคั่วเล็กๆ ในบ้านของทั้งคู่
ประตูไม้เก่าสีเขียวซีดๆ ที่มาเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งที่นี่
บันไดเหล็กทางขึ้นสู่พื้นที่ปลูกผักสวนครัวบนดาดฟ้า
สวนครัวบนดาดฟ้าที่ระดับลดหลั่นลงจากชั้นสองของบ้านเล็กน้อย
โดยความชอบของทั้งคู่นั้นชอบทำพื้นที่ให้ง่าย ลดทอนองค์ประกอบของการใช้ชีวิตจึงออกมาเป็นภาษาของอาคาร เจ้าของเริ่มขั้นตอนก่อสร้างจากการหาพื้นที่ที่ต้องการปลูกสร้าง ที่เป็นบริเวณของสวนเดิมเสมือนเป็นอีกห้องหนึ่งของบ้านเพียง หลังคาแยกออกจากกัน แล้วเสาะหาประตูเก่าให้เข้ากับบรรยากาศ ซึ่งในครั้งนี้มีความแตกต่างจากวิสัยเดิมที่ผู้ออกแบบชอบเล็กน้อย ที่แต่เดิมจะสร้างพื้นที่โดยยึดจากขนาดของประตูเก่าเอามาตั้งต้น แต่คราวนี้โรงไม้ต้องเฉือนความสูงของมันออกเล็กน้อยให้พอดีกับความสูงของเรือน เพื่ออาคารหลังน้อยนี้จะได้มีประตูที่เข้ากับบรรยากาศ และมีเรื่องราวของชีวิตได้เล่าต่อ
โรงคั่วบรรจุอุปกรณ์สำหรับการทดลองในแต่ละครั้ง
แม้จะดูเล็กแต่ภายในบรรจุอุปกรณ์ขนาดย่อม เครื่องอบขนมปังจากแป้งที่ทำการเพาะยีสต์เอง ถัดไปเป็นเครื่องซีนพลาสติก ก่อนถึงอ่างล้างมือและอุปกรณ์ ชั้นเก็บของสแตนเลสไร้หน้าบาน และเครื่องคั่วขนาดไม่ย่อมนัก แล้วจึงเป็น Station สำหรับทำงานทั้งอุปกรณ์ชั่งตวงและเครื่องนวดแป้ง ซึ่งหันหน้าเข้ากับชั้นหนังสือภายในบ้านพอดี
จากชื่อ “Sunny Bear Coffee Roasters” ที่เมื่ออ่านชื่อแล้วมี สายลม แสงแดด ปนความหอมจรุงกลิ่นกาแฟอวลไอแดดยามเช้าใจกลางป่า หากการคั่วกาแฟคือการฟังเสียง First Crack แล้วออกแบบวิธีดึงแก่นของเมล็ดออกมา ภาษาสถาปัตยกรรมของโรงคั่วนี้จึงทำออกมาอย่างเรียบง่ายเพื่อดึงแก่นของพื้นที่ซึ่งก็คือชีวิตออกมา เชื่อหรือไม่ สิ่งที่เราพบบนพื้นที่นี้คือ “ความอบอุ่น ความดิบ ความสด แสงแดด และสายลมของธรรมชาติ” สะท้อนอย่างสัมพันธ์ต่อเนื่องออกมาทาง ชื่อ สถานที่ กาแฟ และตัวตนของเจ้าของนั่นเอง
Owner : คุณกอไผ่ และคุณนิลบล ปาณินท์
Design & Construction: : คุณกอไผ่ คุณนิลบล ปาณินท์ และ Research Studio Panin
Area : 20 sq.m.
Project Location : Phahonyothin, Bangkok
Project Year : 2018
Photographer : Pirak Anurakyawachon (Spaceshift Studio)