Shooting an Elephant by Arin Rungjang
Write: Tunyaporn Hongtong
Photos: Courtesy of ShanghART Gallery
‘Shooting an Elephant’ เป็นผลงานศิลปะล่าสุดจาก อริญชย์ รุ่งแจ้ง ที่กำลังจัดแสดงอยู่ใน Shanghai Biennale ครั้งที่ 12 ตัวงานเป็น VDO Art ฉายอยู่บนจอภาพขนาดใหญ่ 9 จอ ภายในห้องแกลเลอรี โดย 3 จอ เป็นภาพ (Close-up เห็นแค่ปากและด้านหลังศีรษะ) และเสียง ของชายชาวบังกลาเทศคนหนึ่งที่กำลังขับร้อง “ซูเราะหฺยาซีน” หนึ่งในบทสวดจาก อัลกุรอาน อีก 1 จอ เป็น Text ที่เล่าเรื่องราวชีวิตของชายคนนั้น ผสมกับ Text อีกส่วนที่ศิลปินนำมาจากบทความ Shooting an Elephant ของ George Orwell ส่วนอีก 5 จอที่เหลือ เป็นภาพช้างที่กำลังยืนและทำท่าเหมือนการแสดงในโชว์ ภาพช้างตัวนั้นค่อยๆ ล้มลงอย่างเจ็บปวด ช้างนอนนิ่งไม่ไหวติง และภาพที่ Close-up เข้าไปที่แววตาเศร้าสร้อยของช้าง โดยทั้งหมดเป็นผลจากการที่อริญชย์และทีมงานนำช้างมาถ่ายทำในสตูดิโอสีขาว ให้เหมือนกับภาพช้างที่ George Orwell บรรยายไว้ใน Shooting an Elephant
Text ส่วนแรกที่จะขึ้นมาให้เห็นทีละบรรทัดบนจอนั้น ผู้ชมจะได้รับรู้เรื่องราวของ “วาตูเช่ อาลี” (นามเดิม) ชายชาวบังกลาเทศที่มีชีวิตระหกระเหิน ถูกเอารัดเอาเปรียบ ทำร้ายร่างกาย และล่วงละเมิดทางเพศ มาตั้งแต่เด็ก เขาเกิดที่เมืองมะละแหม่ง (Molmein) ประเทศเมียนมาร์ นับเป็นชาวบังกลาเทศเจเนอเรชันใหม่ หลังจากที่บรรพบุรุษของเขาถูกนำมาเป็นแรงงานทาสที่เมียนมาร์ ในสมัยที่อังกฤษเข้ามาปกครองยึดเป็นอาณานิคม แต่ถึงชาวบังกลาเทศกลุ่มนี้จะเข้ามาในเมียนมาร์นานกว่า 200 ปี เมื่อเมียนมาร์ประกาศอิสรภาพ ขึ้นมาปกครองตนเอง ก็กลับใช้นโยบายชาตินิยม ไม่ให้สัญชาติแก่พลเมืองที่ไม่ได้มีเชื้อชาติเมียนมาร์ ซึ่งก็รวมถึงชาวบังกลาเทศ โรฮิงญา และกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลาย เมื่อไม่มีสัญชาติ คนเหล่านี้จึงไม่สามารถทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย วาตูเช่ อาลี ที่ในตอนนั้นอยู่ในวัย 13 ปี จึงเป็นหนึ่งในจำนวนคนที่จงใจลักลอบเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อหางานทำ หลังจากเดินเท้าเข้ามาทางชายแดนไทย-เมียนมาร์ โดยต้องอดมื้อกินมื้ออยู่ในป่าหลายวัน เขาถูกจับแล้วส่งกลับสองครั้ง กว่าจะลักลอบเข้ามาได้สำเร็จในครั้งที่สาม แต่เมื่อมาถึงประเทศไทย เขาก็ต้องตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ที่ร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลอกให้เขาทำงานหนักโดยไม่ได้ค่าแรงตอบแทนอยู่เป็นเวลาหลายเดือน เขาถูกล่ามโซ่ แต่ก็หนีออกมาได้ โชคร้ายที่ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็ยังคงถูกกลั่นแกล้ง (ส่วนหนึ่งเพราะเขาเป็นมุสลิมในสังคมที่คนส่วนมากเป็นพุทธ) ทำร้ายร่างกาย จนต้องระหกระเหินไปยังที่ต่างๆ ในหลายจังหวัด เป็นเวลานานหลายปีที่วาตูเช่ อาลี อาศัยหลับนอนอยู่ในมัสยิด หัวลำโพง และสนามหลวง ตั้งแต่เล็กจนโต เขาเคยเป็นทั้งเด็กเลี้ยงวัว ทำไร่ ขายโรตี จนในที่สุดก็เข้ามาสู่วงจรของการค้าประเวณี
เรื่องเล่าของวาตูเช่ อาลี มีบางอย่างคล้ายกับ Shooting an Elephant ของ George Orwell หนึ่งคือ แม้จะเป็นคนจากสองเจเนอเรชัน จากสองห้วงเวลาที่ต่างกัน แต่กลับมีความเชื่อมโยงกับสถานที่เดียวกัน นั่นคือ มะละแหม่ง เมืองที่วาตูเช่ อาลี เกิดและเติบโต และเป็นเมืองที่ George Orwell รวมทั้งตำรวจหนุ่มชาวอังกฤษ - ผู้เล่าเรื่องในบทความของเขา เคยไปเป็นตำรวจในช่วงระหว่างที่อังกฤษปกครองพม่า สอง - เรื่องราวของทั้งสองคนเป็นเรื่องเล่าจากความทรงจำ อันเป็นลักษณะการทำงานศิลปะของอริญชย์ที่มักเล่าเรื่องประวัติศาสตร์จากบันทึกความทรงจำของบุคคล หรือ Oral History ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่ได้รับการบันทึกอย่างเป็นทางการ โดยเรื่องของวาตูเช่ อาลี นั้น ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องเล่าจากความทรงจำเกี่ยวกับตัวเขาเอง ส่วนในบทความ Shooting an Elephant ที่ Orwell ใช้สรรพนามว่า “ผม” เป็นคนเล่าเรื่องนั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นเรื่องราวจริงที่เคยเกิดขึ้นกับตัวผู้เขียนเองเช่นกัน แม้ว่าในสังคมนั้น วาตูเช่ อาลี และ Orwell จะอยู่กันในคนละสถานะ กล่าวคือ คนแรกเป็นชนชั้นระดับล่างที่ไม่ได้รับสิทธิเป็นพลเมือง ส่วน Orwell เป็น “คนขาว” และ “ผู้ปกครอง” แต่ในสายตาของคนเมียนมาร์ พวกเขาทั้งสองต่างเป็น “คนนอก” ที่ถูกรังเกียจและแบ่งแยกออกจากคนกลุ่มใหญ่ในประเทศ นอกจากนั้น ชีวิตและการตัดสินใจเลือกกระทำของทั้งวาตูเช่ อาลี และ Orwell ต่างได้รับผลกระทบมาจากเงื่อนไขทางสังคมการเมืองที่แฝงอยู่ในสภาพสังคมที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะเป็น การตัดสินใจของ Orwell (หรือในที่นี้คือตำรวจผู้เล่าเรื่องใน Shooting an Elephant) ที่จำใจต้องยิงช้างที่หายตกมันแล้ว เพราะกำลังอยู่ในบทบาทของ “ผู้ปกครอง” ที่ต้องรักษาบทบาทหน้าที่ อำนาจ และภาพลักษณ์ในสายตาของ “ผู้ถูกปกครอง” เอาไว้ ทั้งๆ ที่ตัวเขาเองไม่ได้ต้องการฆ่าช้างหรือไม่เคยเห็นด้วยกับการล่าอาณานิคมเลย (ใน Shooting an Elephant เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า George Orwell คัดค้านเรื่องการล่าอาณานิคม โดยเฉพาะในวรรคทองที่เขากล่าวไว้ว่า “When the white man turns tyrant, it is his own freedom that he destroys”) ในทำนองเดียวกัน การตัดสินใจเลือกเส้นทางเดินชีวิตของวาตูเช่ อาลี ตั้งแต่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ไปจนถึงอาชีพค้าประเวณีในที่สุด ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งมันเริ่มต้นขึ้นจากนโยบายชาตินิยมของประเทศที่เขาเกิดเติบโตและอาศัย ที่ทำให้เขาต้องดิ้นรนหนีออกมาเพื่อชีวิตที่ดีกว่า รวมทั้งการถูกปฏิบัติเป็นพลเมืองชั้นสองของในอีกประเทศ ที่สุดท้ายก็ไม่เหลือทางเดินในชีวิตให้เขาเลือกเดินมากนัก
อริญชย์เคยกล่าวไว้ว่า เขาทำงานศิลปะ แต่ถ้างานของเขาจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมือง นั่นก็เป็นเพราะเขาอาศัยอยู่ในบริบททางการเมืองนั้น สิ่งที่เขากล่าวไว้นี้ สะท้อนให้เห็นอยู่ในเรื่องเล่าของวาตูเช่ อาลี เพราะแม้จะเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของตัวเองด้วยโครงสร้างประโยคและภาษาง่ายๆ แต่เรื่องราวเหล่านั้นก็แสดงให้เราเห็นถึงสภาพสังคมและการเมืองหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องความเป็นชาตินิยม ขบวนการค้ามนุษย์ การฉ้อโกงของเจ้าหน้าที่รัฐ การเหยียดเชื้อชาติ-ศาสนา ไปจนถึงปัญหาที่กลุ่มชาติพันธุ์-คนไร้สัญชาติต้องเผชิญ เรื่องราวชีวิตของวาตูเช่ อาลี ยังแสดงให้เราเห็นอีกว่า ในฐานะปัจเจกชนคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในสังคม เราไม่อาจเลือกทางเดินชีวิตของเราได้ด้วยเจตจำนงเสรี (Free Will) แต่ชีวิตของเราส่วนหนึ่งย่อมเป็นผลมาจากปัจจัยทางสังคมและการเมืองที่เราอยู่อาศัย ในขณะที่ภาษาเขียนที่เป็นทั้งเรื่องเล่าจากความทรงจำของวาตูเช่ อาลี และบทความของ George Orwell ทำหน้าที่เล่าเรื่องราว (Narrative) ตามบทบาทหลักของมันไป รูปแบบของภาษาที่อริญชย์เลือกนำมาใช้ในผลงานครั้งนี้ทั้ง 3 ชิ้น คือ ภาษาวรรณกรรม (บทความของ George Orwell) ภาษาของศาสนา (บทสวดซูเราะหฺยาซีน) และ การเขียนแบบภาษาพูด (เรื่องเล่าจากวาตูเช่ อาลี) ก็ยังจัดเป็นภาษา 3 ระดับ ที่เข้ามาเสริมความคิดในเรื่องการจัดระดับชนชั้นทางสังคม ที่แฝงอยู่ในนิทรรศการครั้งนี้ ได้ในอีกมิติหนึ่ง เพราะเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว วรรณกรรมและศาสนาต่างได้รับการยอมรับว่าเป็นภาษาที่อยู่ในระดับสูง ส่วนภาษาอันหลังสุดนั้น นอกจากจะเป็นภาษาพูดที่จัดอยู่ในระดับล่างกว่าสองภาษาแรกแล้ว ใน ‘Shooting an Elephant’ นี้ ก็ยังถูกใช้มาเล่าเรื่องราวของโสเภณีเกย์ชาวมุสลิมที่ถูกสังคมปกปิด เป็นคนในระดับล่างที่ไม่ได้รับการยอมรับเป็นพลเมือง และเป็นภาษาที่คล้ายจะไม่มีเสียงอยู่ในสังคม