เมื่อปีที่แล้ว ทั้งนิตยสาร A+U และ El Croquis ได้พร้อมใจกันจัดทำฉบับ โก ฮาเซกาว่า (Go Hasegawa) โดยรวบรวมงานของฮาเซกาว่า ตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน จากโปรเจกท์แรกที่ทำให้ฮาเซกาว่า เริ่มเป็นที่รู้จัก คือบ้านในป่า หรือ House in a Forest ซึ่งก่อสร้างเสร็จในปี 2006 และได้กลายเป็นภาพจำที่เรามักนึกถึงเป็นงานแรกๆ เรื่อยมาจนถึง อพาร์ตเมนต์ ที่ เนริม่า (Apartment in Nerima) ซึ่งก่อสร้างเสร็จในปี 2010 และทำให้ฮาเซกาว่า กลายเป็นสถาปนิกญี่ปุ่นอีกคนหนึ่งที่เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ภายในช่วงเวลา 12 ปี นับจากที่ฮาเซกาว่า ได้เริ่มก่อตั้งบริษัทสถาปนิกอย่างเป็นทางการ เราได้เห็นงานหลากหลายขนาด ภายใต้โปรแกรมที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุกงานก็ดูเหมือนจะมีคำถามและการพยายามค้นหาคำตอบอะไรบางอย่างร่วมกันอยู่
ตั้งแต่เรียนจบจาก Tokyo Institute of Technology โก ฮาเซกาว่า ได้เริ่มต้นอาชีพสถาปนิกด้วยการทำงานกับ ทาอิระ นิชิซาว่า (Taira Nishizawa) อยู่สองปี ก่อนจะเริ่มก่อตั้งสำนักงานของตัวเอง โดยตลอดช่วงระยะเวลาของการทำงานออกแบบ ฮาเซกาว่า ก็ได้สอนหนังสือไปด้วย โดยเริ่มสอนที่ Tokyo Institute of Technology ตั้งแต่ปี 2009 และที่สถาบันอื่นๆ ทั้งในประเทศญี่ปุ่น และในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Academy of Architecture ที่ Mendrisio หรือที่ Oslo School of Architecture and Design และล่าสุดที่ Harvard Graduate School of Design ซึ่งจากการสอนหนังสือควบคู่กับการทำงานออกแบบนี้เอง ทำให้ฮาเซกาว่า มีความสนใจในด้านการวิจัย จนทำให้เขาตัดสินใจกลับไปเรียนจนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากสถาบันเดิม
ภายใต้ความหลากหลาย งานของ โก ฮาเซกาว่า มักตั้งคำถามเกี่ยวกับ น้ำหนัก ความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของพื้นที่ และมิติของเวลา ที่ผู้คนรับรู้ในงานสถาปัตยกรรม โดยพยายามตั้งคำถามที่ท้าทายภาพจำของเราเกี่ยวกับ ความใหญ่/เล็ก ความหนัก/ความเบา ความใหม่/ความเก่า และพยายามตีความ เพื่อให้คุณค่าเกี่ยวกับแนวความคิดเหล่านั้น ในรูปแบบใหม่ที่เราอาจนึกไม่ถึงมาก่อน ซึ่งทำให้งานของฮาเซกาว่า ถูกแสดงออกอย่างชัดเจนที่สุด ได้ด้วยรูปตัด ที่แสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม และความสัมพันธ์ของมันกับบริบทที่รายล้อมอยู่รอบตัว
งานออกแบบล่าสุดงานหนึ่งของ ฮาเซกาว่า เป็นวิหารหินหลังเล็กๆ ในสุสานที่เมือง Guastalla ประเทศอิตาลี ซึ่งทำหน้าที่เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมสำหรับครอบครัว และเป็นจุดพักในสุสาน ในเวลาปกติที่ไม่ได้มีพิธีกรรมใดๆ ซึ่งโจทย์สำหรับงานนี้มีความซับซ้อนอยู่ที่โปรเจกท์นี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิตหินอ่อน Pibamarni ซึ่งจะนำวิหารนี้ไปจัดแสดงในนิทรรศการ ก่อนที่จะแยกส่วนนำมาก่อสร้างอย่างถาวรที่สุสาน Guastalla ทำให้ฮาเซกาว่า ต้องตีความการใช้หินอ่อน การประกอบ การแยกส่วน และการก่อสร้าง ในรูปแบบใหม่